ในที่สุดก็ประกาศเป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีทรัพย์สินดิจิตอลแล้ว [พระราชกําหนด แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561] ว่านักลงทุนต้องเสียภาษีอย่างไรบ้าง ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. Cryptocurrency และเหรียญ ICO เรียกว่า ทรัพย์สินดิจิตอล
ทรัพย์สินดิจิตอลที่อยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามกฎหมายนี้ ได้แก่ Crytocurrency และ Digital Token ซึ่งในที่นี้ขออนุญาตเรียกรวมๆ ว่า coin
Crytocurrency คือ coin ที่เกิดขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนเสมือนเป็นเงิน เช่น Bitcoin (BTC), Litecoin (LTC) หรือ Ethereum (ETH)
ส่วน Digital Token คือ coin ที่เกิดขึ้นจากการระดมทุนผ่านการทำ ICO (Initial Coin Offering) เพื่อนำ coin ไปใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเฉพาะระหว่างผู้ออก coin และผู้ถือ coin เช่น OmiseGo (OMG), JFinCoin (JFIN) หรือ Carboneum (C8) เป็นต้น
2. กำไรจากการขาย coin ให้หักภาษี 15%
หากขาย coin แล้วได้กำไรเนื่องจากขายได้ราคามากกว่าต้นทุนที่ซื้อมา ก่อนนักลงทุนจะได้รับเงิน ผู้ให้บริการ Crytocurrency Exchange จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากกำไรด้วยก่อนจะจ่ายเงินให้ลูกค้าที่เป็นนักลงทุน [มาตรา 40(4)(ฌ),50(2)(ฉ) ประมวลรัษฎากร]
3. ผลประโยชน์ที่จ่ายจากการถือ coin ให้หักภาษี 15%
หาก coin ที่ถือไว้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์หรือส่วนแบ่งกำไรให้แก่ผู้ถือ เช่น ถ้า coin นั้นจะได้รับเงินปันผลจากผู้ออก coin ถ้ากิจการนั้นมีกำไรโดยแบ่งจ่ายให้ตามสัดส่วนจำนวน coin ที่ถืออยู่ กรณีนี้ผู้ออก coin จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% จากส่วนแบ่งกำไรหรือผลประโยชน์นั้นด้วยก่อนจะจ่ายเงินให้ลูกค้าที่เป็นผู้ถือ coin[มาตรา 40(4)(ซ),50(2)(ฉ) ประมวลรัษฎากร]
4. ถูกหักภาษี 15% ไปแล้ว ต้องนำมายื่นภาษีประจำปีด้วยอยู่ดี
รายได้จาก coin เหล่านี้แม้จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไปแล้ว นักลงทุนก็ยังต้องนำมายื่นภาษีประจำปีด้วยอยู่ดี เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้สิทธิ์ไม่ต้องยื่นภาษี (ซึ่งในส่วนนี้จะแตกต่างกับรายได้จากการลงทุนในรูปของดอกเบี้ยหรือเงินปันผลอย่างชัดเจนที่สามารถปล่อยให้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยไม่ต้องนำมายื่นภาษีอีกก็ได้ ดังนั้น การหักภาษีทรัพย์สินดิจิตอล ณ ที่จ่าย 15% จึงเป็นเพียงการชำระภาษีล่วงหน้าเท่านั้น ยังไม่ใช่ภาษีสุดท้าย)
5. รายได้จาก coin หักค่าใช้จ่ายไม่ได้เลย
เนื่องจาก coin เหล่านี้ถูกกำหนดให้เป็นเงินได้ประเภทที่ 4 ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับพวกดอกเบี้ยและเงินปันผลซึ่งหักต้นทุนค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ได้อยู่แล้ว จึงทำให้รายได้จาก coin เหล่านี้หักต้นทุนค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ได้เลย (มีเพียงกรณีกำไรจากการขาย coin เท่านั้นที่ให้หักยกเว้นต้นทุนค่าซื้อ coin ได้) ดังนั้น ต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ แม้ว่าจะมีต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง เช่น ค่าเครื่องขุด ค่าไฟฟ้า ค่าเช่า ก็ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อทำให้เสียภาษีถูกลงได้
สรุปและข้อสังเกตบางประการ
ทรัพย์สินดิจิตอล ได้แก่ Crytocurrency และ Digital Token ซึ่งกำไรจากการขาย coin หรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากถือ coin จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% และจะต้องนำไปยื่นภาษีประจำปีด้วย
แต่ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือการคำนวณภาษีจากกำไรทำได้ยากมากๆ ในทางปฏิบัติ อีกทั้งยังมีโอกาสเกิดช่องว่างบางประการที่ต้องรอการตีความอยู่ด้วย เช่น ถ้าซื้อ coin มาจากกระดาน Crytocurrency Exchange จากต่างประเทศแล้วโอนเข้ามาที่กระดาน Crytocurrency Exchange ในประเทศไทย แล้วถอนออกมาเป็นสกุลเงินบาท ผู้ให้บริการ Crytocurrency Exchange ในประเทศไทยจะหักภาษี 15% จากกำไรได้อย่างไรเพราะไม่ทราบว่าต้นทุนตอนซื้อที่แท้จริงเป็นเท่าไหร่กันแน่ โดยเฉพาะสายขุดที่จะหักค่าใช้จ่ายจากต้นทุนการซื้อเครื่องขุดและค่าไฟฟ้าไม่ได้เลย
และหากนักลงทุนบางคนโอนย้ายเงินไปอยู่ในบัตรเครดิตที่แปลง Crytocurrency หรือ Digital Token มาใช้จ่ายเลย เช่น บัตร BitPay หรือ TenX ก็น่าจะหลุดรอดจากเกณฑ์ตรงนี้ไปด้วยเช่นกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : #อาจารย์มิกเป็นคนซีเรียส, จากอาจารย์ mix ITAX