3 เรื่อง 8 ทักษะของการก้าวไปสู่ผู้ประกอบการ
หากย้อนกลับไปเมื่อ 10-20 ปีก่อน อาชีพหมอ วิศวกร ตำรวจ คงเป็นคำตอบยอดฮิตของเหล่าเด็กๆ ยุคนั้น แต่ด้วยปรากฏการณ์เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จได้เป็นเพียงคนเล็กๆ ที่มีฝันใหญ่ๆ เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) ชุมชนเสมือนบนโลกออนไลน์ที่เชื่อมโยงคนได้ทั่วโลก หรือแอพพลิเคชั่นปฏิวัติวงการคมนาคม แกร็บ (Grab) และอูเบอร์ (Uber) ที่สร้างบริการทางเลือกรถสาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่นทางออนไลน์ ธุรกิจเหล่านี้สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ สามารถสร้างสรรค์ธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดฝันของคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนไปเป็น “เจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ” ความฝันที่ยิ่งใหญ่ และยุติความจำเจของการทำงานในออฟฟิศได้
กิตติรัตน์ ปิติพานิช ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ต้องการก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จ ควรเตรียมความพร้อมด้านการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative) และด้านความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) เน้นเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ โดยความพร้อมทั้ง 3 ด้านนี้ จะต้องมี 8 ทักษะ ดังต่อไปนี้
การใช้ความคิดสร้างสรรค์
เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creativity นั้นคงไม่ได้หมายถึงการริเริ่มไอเดียใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเลือกใช้ความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างในการค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย ซึ่งความคิดสร้างสรรค์นี้มีความจำเป็นอย่างมากในการต่อสู้และสร้างความโดดเด่นในสนามธุรกิจอันดุเดือด
การทำงานร่วมกับผู้อื่น
แน่นอนว่าการประกอบธุรกิจ ย่อมไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว โดยการทำงานเป็นทีมในสไตล์ Co-Creation หากสมาชิกเกื้อหนุนกัน ย่อมเป็นผลดีต่อธุรกิจ ดังนั้นการรับฟังและยอมรับความเห็นที่แตกต่างของผู้อื่น เพื่อนำมาประยุกต์และต่อยอดในการพัฒนาชิ้นงานและแก้ไขปัญหาของทีม จึงเป็นสิ่งสำคัญในการต่อยอดและพัฒนาธุรกิจ
การลงมือทำและความเป็นผู้ประกอบการ
การมีไอเดียสดใหม่และแตกต่างนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการทำธุรกิจ แต่การนำไอเดียดังกล่าวไปสร้างเป็นธุรกิจจริง จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจกลไกของธุรกิจ รวมทั้งสามารถวางแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาธุรกิจของตัวเอง หรือก้าวสู่การสร้างธุรกิจในแบบ Entrepreneurship ได้อย่างถูกต้อง เพราะหากไอเดียดีเพียงไร แต่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง และเป็นระบบ ธุรกิจดังกล่าวย่อมไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างมั่นคง
การสื่อสาร
การทำธุรกิจย่อมหนีไม่พ้นการนำเสนองาน ทั้งกับลูกค้าและพาร์ตเนอร์ (Partner) ตลอดจนเพื่อนร่วมงานและลูกน้อง ความสามารถในการถ่ายทอดความคิดและทัศนคติได้อย่างถูกต้องและชัดเจน รวมทั้งมีทักษะในด้านการติดต่อสื่อสาร Communication รู้วิธีนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ และสามารถโน้มน้าวใจผู้ฟังได้ จึงเป็นทักษะที่สำคัญ นอกจากสร้างความเข้าใจแล้ว การสื่อสารที่ดียังคงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความน่าเชื่อถืออีกด้วย
การคิดและมองแบบองค์รวม
หากการเรียนรู้ภูมิศาสตร์ประเทศไทย ไม่ใช่การทำความเข้าใจได้แค่ลักษณะพื้นที่ของกรุงเทพฯ ในด้านของการทำธุรกิจก็เช่นกัน การเป็นผู้ประกอบการที่ดี จึงไม่ควรโฟกัสเพียงแต่ธุรกิจของตัวเอง โดยไม่สนใจสภาวะแวดล้อมรอบข้างได้ในแบบที่เรียกว่าองค์รวม หรือ Holistic เช่น รูปแบบการตลาดของคู่แข่ง ฯลฯ และการมีความเข้าใจในมิติความรู้ที่หลากหลายและรอบด้าน รวมทั้งเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์ สังคมและสภาพแวดล้อม ย่อมเป็นหนทางสู่การสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ
การเข้าใจปัญหา
ทุกปัญหามีทางออกและทุกอุปสรรคมีโอกาสเสมอ หากสามารถค้นหาสาเหตุ ข้อจำกัด และเงื่อนไขของปัญหานั้นได้ในแบบทะลุปรุโปร่ง ในแบบ Understanding และนำมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างตรงจุด พร้อมทั้งนำมาเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหาในครั้งต่อไป ตลอดจนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ปัญหาเดิมเกิดขึ้นอีก
การรู้เท่าทันเทคโนโลยีและวัสดุ
การนำเทคโนโลยีมาใช้ทุ่นแรงในการทำธุรกิจ หรือ Material and Technology Literacy ไม่ใช่เพียงหนทางของการลดเวลา ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตเท่านั้น แต่ยังเป็นหนทางแห่งการสร้างโอกาสและความแตกต่าง หากมีความเข้าใจในระบบสั่งการและสามารถใช้งานเครื่องจักรและเทคโนโลยีในการพัฒนาธุรกิจได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งมีความรู้ในวิทยาการด้านวัสดุ
การจัดการความเปลี่ยนแปลงและความล้มเหลว
ทุกธุรกิจย่อมมีความล้มเหลว แม้ในเริ่มต้นอาจสวยหรูแต่ย่อมมีจุดตกต่ำในวันหนึ่ง ซึ่งมีคำศัพท์นิยามไว้ว่า Change and Failure Management ความเข้าใจถึงความไม่แน่นอนของการดำเนินธุรกิจนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับตัวอย่างเหมาะสมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ รวมทั้งยินดีหากต้องเริ่มต้นใหม่ เพื่อการแก้ปัญหาที่ตรงจุด
กิตติรัตน์ ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า 8 ทักษะนี้มีความจำเป็นต่อการเติบโตเพื่อเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จนั้น ไม่ใช่เรื่องเกินความสามารถคนรุ่นใหม่ ทุกคนที่สนใจสามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้ ผ่านชาลเลนจ์ในโครงการ “ชมรมนักออกแบบรุ่นเยาว์” หรือ Young Designer Club (YDC) เช่น เรียนรู้การออกแบบโลโก้ The Story Teller การออกแบบแนวทางการกำจัดขยะให้เป็นศูนย์
หรือการสร้างสรรค์เครื่องแบบนักเรียนแนวใหม่ และการค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาดราม่าในงานกีฬาสี ซึ่งชาลเลนจ์ต่าง ๆ ล้วนส่งเสริมทักษะที่แตกต่างกันออกไป นอกจากทักษะที่จะได้พัฒนาแล้วนั้น ผู้เข้าร่วมโครงการยังมีโอกาสได้พบปะและได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ ผ่านกิจกรรมการลงพื้นที่และการทำเวิร์กช็อป จึงอยากเชิญชวนให้เหล่าเยาวชนที่มีความฝันอยากเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จรวมกลุ่มกัน มาร่วมโครงการดังกล่าว โดยสามารถสมัครและดูรายละเอียดได้ที่ www.youngdesignerclub.com
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10501 โทร.02-105-7400 หรือเว็บไซต์ youngdesignerclub.com หรือเฟซบุ๊ก youngdesignerclub n
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : 40+