เริ่มต้นธุรกิจในรูปแบบไหนดีน๊า ???

หลายคนคงสงสัยว่า จะเปิดบริษัทเป็นของตัวเอง แล้วจะจดทะเบียนในรูปแบบไหนดี วันนี้เราเอาความรู้ดีๆมาฝากครับ

– เจ้าของคนเดียว
– ห้างหุ้นส่วนสามัญ
– ห้างหุ้นส่วนจำกัด
– บริษัทจำกัด

1. ประกอบธุรกิจในรูปแบบเจ้าของคนเดียว
ข้อดี
– ธุรกิจเจ้าของคนเดียวเป็นการลงทุนคนเดียว
– การจัดตั้งทำได้ง่าย ไม่ต้องมีหุ้นส่วน
– ตัดสินใจได้เร็ว คล่องตัว
– กำไรจากกิจการไม่ต้องแบ่งให้ใคร แต่หากธุรกิจขาดทุน เจ้าของก็ต้องรับผิดชอบผลขาดทุนเพียงคนเดียวเช่นกัน
– กิจการรูปแบบนี้มีข้อบังคับทางกฎหมายน้อย แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเจ้าของต้องแบกรับภาระของกิจการไว้ทั้งหมด

ข้อด้อย
– มีความเสี่ยงสูง เพราะต้องรับผิดชอบต่อกิจการอย่างไม่จำกัด
– ไม่มีคนช่วยคิด
– มีความน่าเชื่อถือน้อย
– ในทางกฎหมายมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา โดยจำเป็นต้องยื่นแบบ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และหากธุรกิจเข้าข่ายกิจการที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ตาม พรบ.ทะเบียนพาณิชย์ เจ้าของยังต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ด้วย

2. ประกอบธุรกิจในรูปแบบห้างหุ้นส่วนสามัญ

เป็นกิจการที่มีคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมาร่วมกันลงทุน โดยผู้ที่มาลงทุนในกิจการเรียกว่า “หุ้นส่วน” ซึ่งทุนที่หุ้นส่วนนำมาลงในกิจการอาจจะเป็นเงิน สินทรัพย์อื่น หรือแรงงานก็ได้

โดยหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อหนี้สินของกิจการโดยไม่จำกัดจำนวน ห้างหุ้นส่วนสามัญโดยเริ่มต้นแล้วมีสถานะเป็น “บุคคลธรรมดา” ซึ่งมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” และหากธุรกิจเข้าข่ายกิจการที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ตาม พรบ.ทะเบียนพาณิชย์ ยังต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ด้วย

หากห้างหุ้นส่วนสามัญไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญก็จะมีสภาพเป็นนิติบุคคลซึ่งมีหน้าที่ยื่นแบบ “ภาษีเงินได้นิติบุคคล” นอกจากนี้ ในแง่ของการดำเนินคดีทางกฎหมาย เช่น หากเกิดคดีความฟ้องร้องห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล ผู้ฟ้องจะฟ้องร้องหุ้นส่วนคนไหนก็ได้ หากห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว การฟ้องร้องจะต้องฟ้องร้องตัวห้างหุ้นส่วนก่อน หากห้างหุ้นส่วนมีทรัพย์สินไม่พอ จึงค่อยฟ้องร้องหุ้นส่วนในลำดับถัดไป

ข้อจำกัดของ ห้างหุ้นส่วนสามัญ

  1. การโอนความเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญ ต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนทุกคนก่อน
  2. หลังจากห้างหุ้นส่วน สามัญ เสียภาษีเงินได้ไปแล้ว ส่วนแบ่งกำไรที่หุ้นส่วนได้รับจากห้างหุ้นส่วน ต้องนำไปรวมเป็นเงินได้ของหุ้นส่วน เพื่อเสียภาษีเงินได้อีกรอบ(ไม่สามารถใช้เครดิตภาษีเงินปันผลได้)

3. ประกอบธุรกิจในรูปแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด
เป็นกิจการที่มีคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมาร่วมกันลงทุน การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องจดทะเบียนนิติบุคคล และหากธุรกิจเข้าข่ายกิจการที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ตาม พรบ.ทะเบียนพาณิชย์ โดยเจ้าของยังต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ด้วย

ประกอบธุรกิจในรูปแบบห้างหุ้นส่วนจำกัด แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

ไม่จำกัดความรับผิด คือ หุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการอย่างไม่จำกัดจำนวน

จำกัดความรับผิด คือ หุ้นส่วนต้องรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการเฉพาะส่วนที่ไม่เกินจำนวนเงินที่ตนได้ลงทุนไปเท่านั้น

ห้างหุ้นส่วนสามัญ vs ห้างหุ้นส่วนจำกัด
สามัญ
– หุ้นส่วนทุกคนไม่จำกัดความรับผิด
– เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้
– การโอนความเป็นหุ้นส่วนต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนทุกคน

จำกัด
– หุ้นส่วนมีทั้งประเภทจำกัดและไม่จำกัดความรับผิด
– เป็นนิติบุคคล
– การโอนหุ้นของหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนทุกค
– ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี

4. ประกอบธุรกิจในรูปแบบบริษัทจำกัด
– เป็นกิจการที่มีบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป นำเงินมาร่วมกันลงทุน
– ทุนแบ่งออกเป็น ”หุ้น” ซึ่งแต่ละหุ้นมีมูลค่าเท่ากัน แต่ “ผู้ถือหุ้น” แต่ละคนอาจมีจำนวนหุ้นไม่เท่ากันก็ได้ 
– ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะได้ส่วนแบ่งกำไรของบริษัทตามสัดส่วนหุ้นที่ตนเองถืออยู่ และมีส่วนรับผิดชอบไม่เกินมูลค่าหุ้นที่ตนเองถืออยู่
– หากยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ ก็ต้องรับผิดชอบเพิ่มเติมแค่ส่วนของมูลค่าหุ้นที่ยังชำระไม่ครบ จึงเป็นที่มาของคำว่าบริษัทจำกัดนั่นเอง

ข้อดี
– จำกัดความรับผิดชอบ
– บริหารแบบมืออาชีพ
– มีความน่าเชื่อถือ
– อัตราภาษีเงินได้ขั้นสูงสุด(ต่ำกว่าบุคคลธรรมดา)

ข้อเสีย
– มีขั้นตอนในการจัดตั้งมากกว่ารูปแบบอื่น
– บริหารงานในรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งอาจทำให้ไม่คล่องตัวในบางสถานการณ์
– ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานสูงกว่าบุคคลธรรมดา
– ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชี

แล้วจะเลือกรูปแบบธุรกิจไหนดี?
ในการเลือกรูปแบบธุรกิจ ผู้ประกอบการ SMEs ควรพิจารณาถึงข้อดีข้อด้อยของธุรกิจแต่ละรูปแบบ และพิจารณาปัจจัยต่อไปนี้
• ขนาดของเงินทุนและขนาดธุรกิ
• การบริหารงาน และการรับผิดต่อกิจการ
• ความน่าเชื่อถือ


ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีเงินทุนเริ่มต้นไม่มาก และไม่มีผู้มาร่วมบริหาร
กิจการรูปแบบ “บุคคลธรรมดา” อาจเป็นรูปแบบที่สะดวกกว่า เพราะมีค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนต่ำกว่านิติบุคคล และไม่มีข้อกำหนดให้ส่งรายงานบัญชีที่มีผู้ตรวจสอบบัญชีรับรอง จึงมีภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต่ำ
แต่หากกิจการมีเงินทุนในการเริ่มต้นมาก 
การเป็นนิติบุคคลอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม โดยเฉพาะการจัดตั้งเป็น “บริษัท” เพราะกิจการจะแยกจากตัวเจ้าของกิจการอย่างชัดเจน ทำให้เจ้าของสามารถจำกัดความรับผิดต่อกิจการได้

การจัดตั้งบริษัทยังช่วยให้การบริหารงานเป็นไปอย่างเป็นระบบ
เนื่องจากบริษัทต้องจัดทำรายงานบัญชี
และจัดให้มีผู้ตรวจสอบความถูกต้องของรายงานบัญชี
ซึ่งช่วยให้เจ้าของสามารถรู้ถึงสถานะที่แท้จริงของกิจการ และนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนธุรกิจได้

การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการเป็นบุคคลธรรมดา
เนื่องจากมีการจดทะเบียนกับภาครัฐ
ทำให้หากต้องการขยายกิจการ การติดต่อกับ
คู่ค้าและการหาแหล่งเงินทุนสามารถทำได้ง่ายกว่า

 

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : มิสเตอร์ภาษี ไทยแลนด์ 4.0

Facebook Comments