เราอาจจะพอเดาได้ว่าประเทศไทยค่าครองชีพถูกกว่าอเมริกาแทบทุกด้าน ทั้งค่าอาหาร ค่าเช่า ค่าเดินทาง (ยกเว้นรถยนต์และสินค้าแบรนเนมที่แพงกว่าอย่างน่าใจหาย)
ที่อเมริกาค่าครองชีพสูงกว่าก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะจากการสำรวจในปี 2016 พบว่าคนอเมริกันมีรายได้เฉลี่ยต่อปี 1,861,980.87 บาท แต่เมื่อภาพตัดมาที่คนไทย เรามีรายได้เฉลี่ยต่อปี 184,724.22 บาท แปลเป็นไทย คือ คนไทยรายได้น้อยกว่าคนอเมริกัน 10 เท่า!
แล้วเรื่องภาษีล่ะ คนไทยรายได้น้อยกว่าขนาดนี้น่าจะเสียภาษีถูกกว่าที่อเมริกาแน่ๆ เราอาจจะเคยได้ยินว่าประเทศสหรัฐเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา(Federal Income Tax) ในอัตราสูงสุด 37% ในขณะที่ประเทศไทยเก็บภาษีสูงสุดในอัตรา 35% ฟังดูเผินๆ เหมือนประเทศไทยเก็บภาษีต่ำกว่า แต่เมื่อคำนวณภาษีแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะอะไร? เดี๋ยวเรามาวิเคราะห์กัน
ปล. บทความนี้ไม่ได้นำภาษีประกันสังคม ภาษีที่ดิน ภาษีการขาย และ ภาษีท้องถิ่นอื่นๆ มารวมคำนวณด้วย
เปรียบเทียบผู้เสียภาษีไทยกับอเมริกัน
ประชากรอเมริกัน 325.7 ล้านคน มีคนยื่นภาษี 141,204,625 คน (คนอเมริกันยื่นภาษี 43.35%) และเก็บภาษีเงินได้จากคนอเมริกันได้ 47.6 ล้านล้านบาท เฉลี่ยคนอเมริกันที่ยื่นภาษีจะเสียภาษีกันคนละ 337,099.44 บาท
ส่วนบ้านเรานั้น ประชากรไทย 68.86 ล้านคน มีคนยื่นภาษี 11 ล้านคน (คนไทยยื่นภาษี 16.18%) บ้านเราเก็บภาษีเงินได้จากคนไทยได้ 0.3 ล้านล้านบาท เฉลี่ยคนไทยที่ยื่นภาษีจะเสียภาษีกันคนละ 29,002.82 บาท
อเมริกา | ไทย | |
---|---|---|
ประชากร | 325.7 ล้านคน | 68.86 ล้านคน |
ผู้เสียภาษี | 141 ล้านคน | 11 ล้านคน |
เงินภาษีที่เก็บได้ | 47.6 ล้านล้านบาท | 0.3 ล้านล้านบาท |
เฉลี่ยค่าภาษีที่เก็บได้ต่อคน | 337,099.44 บาท | 29,002.82 บาท |
โดยปกติแล้ว ประชากรผู้เสียภาษีส่วนใหญ่มักจะอยู่ในวัยทำงาน ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีสัดส่วนประชากรวัยทำงานมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ประเทศ และไม่ใช่คนที่ยื่นภาษีทุกคนจะต้องเสียภาษีให้รัฐ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ประเทศอเมริกามีจำนวนประชากรประมาณ 4 เท่าของไทย แต่จำนวนผู้เสียภาษีของเขากลับมีมากกว่าเราถึง 14 เท่า แถมสัดส่วนผู้เสียภาษีก็มากกว่าเราเกือบ 3 เท่าด้วย นั่นหมายความว่าต่อให้คน 2 ประเทศนี้มีจำนวนเท่ากัน ประชากรเกือบครึ่งของเขาจะยื่นภาษี แต่บ้านเราทุกๆ 6 คนยังมีคนยื่นภาษีไม่ถึง 1 คนด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ค่าภาษีที่เก็บได้จากบุคคลธรรมดาของ 2 ประเทศนี้ก็ต่างกันถึง 150 เท่า! และโดยเฉลี่ยคนอเมริกันคนเดียวจะเสียภาษีเหมือนคนไทยช่วยกันลงแขกจ่ายภาษีกัน 11 คน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนอเมริกันมีรายได้สูงกว่าคนไทย 10 เท่าด้วย แล้วปัจจัยอื่นล่ะ เป็นเพราะอเมริกาเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าของไทยด้วยใช่มั้ย? เรามาลองคำนวณภาษีกันดู
เปรียบเทียบอัตราภาษีไทยกับอเมริกา
เมื่อคำนวณภาษีเงินได้เงินได้สุทธิ แต่ละประเทศกำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามฐานเงินได้สุทธิดังนี้
อัตราภาษีไทย
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ฿150,000 | ยกเว้น*1 |
>฿150,000 – ฿300,000 | 5% |
>฿300,000 – ฿500,000 | 10% |
>฿500,000 – ฿750,000 | 15% |
>฿750,000 – ฿1,000,000 | 20% |
>฿1,000,000 – ฿2,000,000 | 25% |
>฿2,000,000 – ฿5,000,000 | 30% |
>฿5,000,000 | 35% |
อัตราภาษีอเมริกา (แปลงค่าเงินดอลล่าร์เป็นบาทแล้ว)
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี |
---|---|
฿0 – ฿311,753 | 10% |
>฿311,753 – ฿1,266,651 | 12% |
>฿1,266,651 – ฿2,700,226 | 22% |
>฿2,700,226 – ฿5,154,977 | 24% |
>฿5,154,977 – ฿6,546,002 | 32% |
>฿6,546,002 – ฿16,365,005 | 35% |
>฿16,365,005 | 37% |
จากตารางอัตราภาษีของทั้งสองประเทศนี้จะสังเกตเห็นได้ว่าหากคนไทยมีเงินได้สุทธิหลักล้านจะเสียภาษีในอัตรา 20% ขึ้นไปทันที ในขณะที่คนอเมริกันเมื่อมีรายได้หลักล้านจะเริ่มเสียภาษีในอัตรา 12% เท่านั้น
และหากคนไทยมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 5 ล้านจะเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 30% ในขณะที่คนอเมริกันที่มีรายได้เท่ากันจะเริ่มเสียภาษีในอัตราไม่เกิน 24% เท่านั้น ซึ่งส่วนต่างของอัตราภาษีลักษณะนี้ทำให้เมื่อคำนวณภาษีจริงๆ ค่าภาษีจึงแตกต่างจากที่คนทั่วไปเข้าใจพอสมควร
เปรียบเทียบภาษีเงินได้คนไทยกับอเมริกัน
ถ้าคนอเมริกันกับคนไทยทำงานประจำเหมือนกัน มีรายได้เท่ากัน และไม่มีค่าลดหย่อนพิเศษใดๆ เลยนอกจากสิทธิพื้นฐานตามกฎหมายของแต่ละประเทศ เมื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว ใครเสียภาษีแพงกว่า เราได้ผลลัพธ์คร่าวๆ ดังนี้ (แปลงค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐเป็นบาทแล้ว)
รายได้ทั้งปี | ค่าภาษีที่อเมริกา | ค่าภาษีที่ไทย |
---|---|---|
310,000 บาท | -฿14,640 (ได้เงินคืนภาษี) | ฿0 |
439,800.87 บาท | ฿0 | ฿6,490 |
500,000 บาท | ฿10,743 | ฿11,500 |
1,000,000 บาท | ฿66,586 | ฿83,000 |
2,000,000 บาท | ฿220,815 | ฿325,000 |
5,000,000 บาท | ฿918,868 | ฿1,217,000 |
10,000,000 บาท | ฿2,566,879 | ฿2,959,000 |
20,000,000 บาท | ฿6,131,762 | ฿6,459,000 |
30,000,000 บาท | ฿9,831,746 | ฿9,959,000 |
36,360,000 บาท | ฿12,185,000 | ฿12,185,000 |
40,000,000 บาท | ฿13,531,762 | ฿13,459,000 |
จากตารางนี้พอสรุปให้เห็นได้ว่าหากคนอเมริกันกับคนไทยมีรายได้เท่ากัน คนอเมริกันที่เป็นชนชั้นกลางลงไปจะเสียภาษีถูกกว่าคนไทยที่เป็นคนชั้นกลางเหมือนกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยในอเมริกาจะได้เงินคืนภาษีจากรัฐบาลสหรัฐเลย ในขณะที่คนไทยจะเพียงอยู่ในเกณฑ์ไม่ต้องเสียภาษีเท่านั้น
และเมื่อรายได้เริ่มถึงเกณฑ์เกณฑ์ต้องเสียภาษี คนไทยจะเสียภาษีแพงกว่าต่อไปในทุกช่วงรายได้จนกระทั่งรายได้ขึ้นหลักสิบล้านก็ยังเสียภาษีแพงกว่าอยู่ดี
แต่เมื่อรายได้ต่อปีอยู่ที่ 36 ล้านบาท (หรือเงินเดือนประมาณ 3 ล้านบาท) ทั้งคนไทยและคนอเมริกันจะเสียภาษีเท่ากัน จนเมื่อเลยจุดนี้ไปแล้วคนอเมริกันจึงจะเริ่มเสียภาษีแพงกว่าคนไทย
สรุป แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง?
ปัจจุบันคนไทยอยู่ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในสัดส่วนที่น้อย จึงทำให้คนที่อยู่ในระบบต้องแบกรับภาระภาษีส่วนนี้แทนคนไทยที่อยู่นอกระบบ ส่งผลให้อัตราภาษีอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพบ้านเรา ดังนั้น หากคนไทยที่มีหน้าที่เสียภาษีพร้อมใจกันเข้ามาอยู่ในระบบได้มากขึ้น ก็จะช่วยให้รัฐเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้รัฐสามารถออกนโยบายลดภาษีเพื่อแบ่งเบาภาระภาษีที่ผู้เสียภาษีในระบบทุกวันนี้แบกรับแทนเพื่อนๆ ที่ยังอยู่นอกระบบลงได้ด้วยเช่นกัน
หลายคนอาจจะรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่เสียภาษี แต่ไม่อยากเข้าระบบเพราะเห็นว่ารัฐนำเงินภาษีไปใช้แต่ละอย่างไม่เหมาะสมเลย เรื่องนั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่สิ่งที่ผู้เสียภาษีอย่างเราควรทำไม่ใช่การโยนให้ภาระหน้าที่เสียภาษีส่วนนี้ไปกองอยู่กับคนที่อยู่ในระบบให้เสียภาษีแทนเราต่อไป แต่สิ่งที่เราควรทำ คือ เสียภาษีให้ถูกต้องเพื่อแบ่งเบาภาระผู้เสียภาษีด้วยกันและเป็นแบบอย่างให้เจ้าหน้าที่รัฐได้เห็น
ส่วนคนที่อยากทำหน้าที่เสียภาษีให้ถูกต้องแต่ยังทำไม่เป็น เราพัฒนา iTAX เพื่อให้ผู้เสียภาษีสามารถเริ่มต้นจัดการภาษีได้ง่ายที่สุด สะดวกที่สุด และประหยัดที่สุดให้คุณแล้ว
เมื่อเราทุกคนร่วมมือกันในฐานะผู้เสียภาษี เราจะได้อ้างสิทธิความเป็นเจ้าของเงินภาษีที่เขานำไปใช้ได้อย่างสง่าผ่าเผย สุดท้ายยังไงประเทศนี้ก็เป็นบ้านของเราทุกคน
*1 : พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : ดร.ยุทธนา อาจารย์ประจำวิชากฎหมายภาษีอากร , iTax