วางแผนใช้เงิน ก้อนแรก ให้ดีที่สุด
เงินเดือนก้อนแรกสำคัญ เพราะนี่คือ บทเรียนแรกในการบริหารจัดการรายรับรายจ่าย คนบางคนไม่มีวินัยทางการเงิน ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่มีวินัยการใช้จ่ายที่เริ่มต้นจากเงินเดือนก้อนแรกนี่เลยแหละ ตลอดทั้งชีวิตที่เหลืออยู่จึงเป็นชีวิตที่ล้มเหลวทางการเงิน ต้นเดือนกินชาบูพรีเมียม แต่ปลายเดือนกินมาม่า เงินไหลออกจากกระเป๋าอย่างรวดเร็ว จับต้นไม่ชนปลาย ชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินไม่พอใช้จนต้องแบเงินขอพ่อแม่เหมือนเป็นเด็กอยู่ร่ำไป
เรื่องจริงไม่อิงนิยายที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์เงินเดือน ผู้ไม่สามารถบริหารจัดการรายได้กับรายจ่ายให้สมดุล รายจ่ายมากกว่ารายรับ ปัญหาจะหมดไปด้วย 3 เคล็ด(ไม่)ลับ วางแผนใช้เงินเดือนก้อนแรกให้ดี
1.จัดทำงบการเงินส่วนบุคคล
เป็นการตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของตัวเองว่ามีความแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน ด้วยการดูว่ารายได้มากกว่า หรือน้อยกว่ารายจ่ายแค่ไหนเพียงไร มีเงินออมและเงินลงทุนพอที่จะนำไปสร้างความมั่งคั่งได้หรือไม่ ระหว่างสินทรัพย์กับหนี้สิน อย่างไหนเยอะกว่ากัน
นั่นเพราะความสำคัญในการจัดทำงบการเงินส่วนบุคคล อยู่ที่การรวบรวมรายการสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมด นำมาคำนวณหาความมั่งคั่งสุทธิ ก่อนเริ่มจัดทำแผนการเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งระยะยาวนั่นเอง
2.จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย
เพื่อให้เห็นพฤติกรรมการใช้เงินของตนเองอย่างชัดเจน โดยเมื่อพอได้เห็นตัวเลขแล้ว จะรู้ทันทีว่ารายจ่ายส่วนไหนที่สูงเกินไป ซึ่งถ้าไม่จำเป็นก็อย่ารีรอที่จะตัดออกไป ได้มองเห็นภาพกรอบใหญ่ว่าใช้จ่าย(ฟุ่มเฟือย)กับค่าใช้จ่ายประเภทใด มองเห็นทางแก้ปัญหาได้ชัดขึ้นเร็วขึ้น อุดรูรั่วของกระเป๋าตังค์ได้ทันท่วงที มีเงินออมเพิ่ม
3.วางแผนการเงินในแต่ละเดือน
วางแผนและจัดสรรปันส่วนเงินออมและค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม ทั้งที่เป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายคงที่ในแต่ละเดือน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ รวมถึงวางแผนค่าใช้จ่ายที่เราสามารถเอาไปสร้างความสุขให้แก่ตัวเองและครอบครัว เช่น เงินค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ 10% เงินออมและเงินลงทุน 20% ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน 50% ค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างความสุขในชีวิต ซื้อของที่อยากได้และสังสรรค์ 20%
มาบริหารเงินตั้งแต่เงินเดือนก้อนแรกให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในเรื่องการวางแผนออมเงิน การสร้างวินัยทางการเงินจากการทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และการจัดสรรปันส่วนเงินมาเพื่อใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข รวมทั้งคอยตรวจสอบสถานะทางการเงินและพฤติกรรมการใช้เงินอยู่เสมอเป็นระยะ ๆ เพียงเท่านี้คุณก็ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือนเจ้าปัญหา(ทางการเงิน)อีกต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : 40+