ออมเงิน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียงสู่การออมเงินอย่างยั่งยืน

แนวความคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานให้กับประชาชนคนไทยนั้น สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับคนทุกระดับชั้น ทั้งระดับครอบครัว ชุมชน จนถึงประเทศชาติ โดยเฉพาะเรื่องทางสายกลาง ไม่ตึง หรือหย่อนจนเกินไป ปรับใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย แม้กระทั่งเรื่องการออมก็เช่นกัน ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การออมเงินที่ดี หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 นั้น นอกจากจะสามารถนำมาปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต หรือการจัดสรรที่ดินในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมแล้ว ยังสามารถนำมาปรับใช้ในการออมเงินสู่การออมเงินอย่างยั่งยืนได้อีก ด้วยการออมเงินมีดังนี้

1.การจัดทำบัญชีครัวเรือน

การจัดทำบัญชีครัวเรือนเป็นวิธีที่ในหลวง รัชกาล 9 ทรงริเริ่มเพื่อแก้ไขปัญหาเมื่อครั้งที่ประเทศไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจ โดยเป็นการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อให้ประชาชนสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน การจัดทำบัญชีครัวเรือนในที่นี้ คือ การจัดทำบัญชีหรือรายรับรายจ่าย รวมถึงการบันทึกข้อมูลด้านอื่นๆ ในชีวิตและครอบครัวที่สามารถจดบันทึกได้ เพื่อนำมาปรับใช้และวางแผนในการดำรงชีวิตในอนาคต เช่น บัญชีทรัพย์สิน บัญชีพันธุ์พืช บัญชีความรู้ ความคิด บัญชีผู้ทรงคุณวุฒิ หรือผู้รู้ในชุมชน บัญชีเด็กและเยาวชน บัญชีภูมิปัญญาด้านต่างๆ การจัดทำบัญชีหรือรายรับรายจ่าย ทั้งประจำวัน และประจำเดือน เป็นวิธีการบริหารเงินอย่างหนึ่งที่จะช่วยประเมินการใช้จ่ายของเราว่ามีประโยชน์และคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อของที่ไม่จำเป็นและฟุ่มเฟือยได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถนำเงินส่วนดังกล่าวไปเก็บไว้เป็นเงินออม เพื่อใช้ในยามฉุกเฉินได้

2.การออมเงินด้วยความพอเพียง

การออมเงินเป็นวิธีที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงริเริ่มใช้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทำให้พระองค์ท่านมีเงินสะสมส่วนพระองค์จนสามารถซื้อรถจักรยานและกล้องถ่ายรูปได้ด้วยพระองค์เอง ซึ่งการออมเงินให้เกิดผลสำเร็จนั้น นักออมเงินต้องมีวินัยและความตั้งใจอย่างแท้จริงในการออมเงิน นอกจากนี้นักออมเงินควรยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในขณะออมเงินด้วย คือ การออมเงินแบบพอดีโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น หากคุณมีรายรับน้อยก็ควรเริ่มการอดออมด้วยจำนวนเงินที่ไม่มาก และไม่กระทบต่อการใช้จ่ายของคุณ รวมถึงการนำเงินที่ได้จากการอดออมไปใช้จ่ายอย่างมีประโยชน์ ใช้จ่ายในสิ่งของที่จำเป็น และใช้จ่ายให้คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปให้มากที่สุด

3.ใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด

หลายคนมีความเข้าใจผิดเรื่องการใช้จ่ายโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไม่ถูกต้องและไม่ถูกวิธี โดยถือคติเพียงว่าต้องใช้จ่ายให้ประหยัดมากที่สุด ซึ่งความเป็นจริงแล้วการใช้จ่ายตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือการใช้จ่ายบนทางสายกลาง การใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า โดยเลือกจากความจำเป็นและคุณภาพของสิ่งของ เช่น การเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แม้สินค้าจะมีราคาสูงกว่าสินค้าราคาประหยัด นับเป็นการใช้จ่ายบนเส้นทางสายกลางอย่างชาญฉลาด เพราะคุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกับการซื้อสินค้าราคาประหยัดที่ไม่มีคุณภาพ และไม่ทนทานต่อการใช้งาน ซึ่งอาจจะทำให้คุณต้องเสียทั้งเงิน และเวลาในการกลับไปซื้อสินค้าเดิมอยู่เป็นประจำ

4.การเลือกใช้งานอย่างคุ้มค่า

พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของการเลือกใช้งาน สิ่งของ ด้วยความพอเพียงให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด ตัวอย่างเช่น การไม่โปรดการใช้ปากการาคาแพง หรือการใช้ดินสอของพระองค์ ที่ทรงใช้จนกว่าดินสอจะสั้นกุดและทรงเบิกดินสอใช้เพียงปีละ 12 แท่งเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงการไม่ยึดติดกับค่านิยมและวัตถุของพระองค์อีกด้วย ซึ่งเราสามารถนำหลักการและแนวคิดของพระองค์ท่านไปปรับใช้ให้เหมาะสมในการดำรงชีวิตของได้

5.พอเพียงอย่างพอดี

การยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในการดำรงชีวิตนั้นไม่มีหลักการและกฎเกณฑ์ที่ตายตัว เพราะการยึดหลักความพอเพียงที่ต้องเลือกปรับใช้ให้เหมาะสมแก่การดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล ซึ่งมักมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป โดยการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างถูกต้องนั้น จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเรา เช่น การลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยการขึ้นรถเมล์ แต่ทำให้ต้องไปทำงานสาย การกระทำนี้แม้จะถือเป็นความพอเพียง แต่ก็ไม่ใช่ความพอเพียงที่พอดีและไม่ถูกต้องตามจุดประสงค์ของพระองค์ท่าน การออมเงินโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 นั้น เป็นสิ่งที่นักออมเงินมือใหม่ รวมถึงประชาชนชาวไทยควรนำไปปรับใช้ในการออมเงินเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยให้การออมเงินของเราประสบความสำเร็จได้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งยังช่วยให้การใช้จ่ายด้วยเงินออมเกิดความคุ้มค่าและประโยชน์มากที่สุด

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : 40Plus

Facebook Comments