ครูไม่ครู ก็เป็นกูรู รู้เรื่อง(กำจัด)หนี้
ใคร ๆ ก็ไม่อยากมีหนี้ หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า ไม่มีใครที่อยากมีหนี้ แต่จริงหรือที่อยากพักการชำระหนี้กันทุกคน (บางคนก็สามารถบริหารจัดการหนี้ของตัวเองได้นะ) การประกาศหยุดพักชำระหนี้ของคณะครูแห่งหนึ่ง ที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว 40+ขอพูดในประเด็นที่ว่า ทำยังไงให้หนี้หมด เคลียร์หนี้แบบมืออาชีพ ความรู้ที่ต้องรู้ของคุณครู…เอ๊ย…ของทุกคน
เรียนรู้เรื่องหนี้เพื่อคุณภาพชีวิตทางการเงิน
1.ในโลกของหนี้ มีทั้งหนี้ดีและหนี้ที่ไม่ดี(หนี้เลว) ซึ่งความจริงแล้ว หนี้ที่ดีนั้นดีจริง ๆ (ฮา) เพราะเปิดโอกาสให้ชีวิตมีความมั่นคงหรือขยายกิจการให้มีความก้าวหน้าขึ้นได้ การไม่ก่อหนี้เลย หมายถึงการเสียโอกาสทางการเงินไปอย่างน่าเสียดาย ทำความรู้จักกับหนี้ให้ถ่องแท้ หนี้ดี-หนี้ที่ไม่ดีนั้นอย่างไร
2.หนี้ที่ดี ก็คือ หนี้ที่ช่วยส่งเสริมความความมั่นคงให้กับชีวิต ช่วยสร้างโอกาสในการทำเงินให้มากขึ้นหรือช่วยพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น เช่น หนี้สินที่กู้ยืมเพื่อซื้อบ้าน, หนี้ที่กู้ยืมมาเพื่อซื้อเครื่องจักรหรือขยายกิจการ, หนี้ที่กู้มาซื้อรถยนต์เพื่อใช้ส่งของหรือใช้ในกิจการ, หนี้เพื่อการศึกษา
3.หนี้ที่ไม่ดี หรือที่เรียกกันว่าหนี้เลว คือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หนี้ที่กู้ยืมมาเพื่อใช้บริโภคอุปโภคในครอบครัว, หนี้ที่เกิดจากการพนัน, หนี้บัตรเครดิต ที่ไม่ได้นำมาใช้จ่ายเพื่อให้เกิดการลงทุนให้เงินงอกเงย สิ้นเดือนทีไรกดเอทีเอ็มแหลกทีนั้น
4.เคล็ดไม่ลับเรื่องหนี้ คือการพิจารณาหนี้ให้ขาด หนี้สินที่กู้มาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต เช่น ซื้อบ้านหรือขยายกิจการ ก็มีโอกาสที่จะเป็นหนี้เลวได้ หากบริหารจัดการเรื่องเงินไม่ดี จนไม่มีความสามารถที่จะผ่อนชำระหนี้ได้
5.การบริหารจัดการหนี้ เป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ ที่ต้องใช้ความรู้และสติปัญญา พิจารณากลั่นกรอง ขณะเดียวกันก็กระพริบตาไม่ได้ หมายถึง ต้องเอาใจใส่และดูแล(กระเป๋าเงินและกระเป๋าหนี้)อย่างใกล้ชิด
6.เรียนรู้สัญญาณที่แสดงสถานะการเป็นหนี้ เช็กลิสต์หรือจับสัญญาณบ่อย ๆ ก่อนที่จะสายเกินไป สัญญาณอันตรายอันดับแรก เมื่อมีหนี้สินที่ต้องชำระเกิน 40 % ของรายรับ เป็นสัญญาณเตือนความเสี่ยงของสภาพคล่องทางการเงิน
7.เข้าเขตเรดโซน ถ้าจ่ายได้เฉพาะขั้นต่ำ หากคุณมีความสามารถชำระหนี้สินได้ในระดับขั้นต่ำต่อเดือน นั่นแสดงว่าคุณกำลังเผชิญภาวะดอกเบี้ยสูง และบานปลายสู่ภาวะหนี้ล้นพ้นตัวในอนาคต บางคนกู้ยืมมาจ่ายหนี้สิน อันนี้อาการหนักแล้ว ปัญหาใหญ่กำลังจะตามมา
8.ก่อนจะก่อหนี้ พิจารณาความจำเป็นในการเป็นหนี้ ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของตนเอง ขนาดของหนี้ที่ต้องจ่าย ไม่ควรมากเกินไปจนเกินกำลัง สุดท้ายคือตรวจสอบสินเชื่อ ทั้งเงื่อนไขกู้ยืม อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาผ่อนชำระ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง และไม่ควรเลือกก่อหนี้นอกระบบเด็ดขาด
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : Posttoday