รายได้ทางอินเตอร์เน็ตต้องเสียภาษีหรือไม่?

รายได้ทางอินเตอร์เน็ต เช่น พวก Google Adsense, Amazon, Hotel Affiliate และรายได้การขายของทางเน็ตอื่น ๆ ต้องเสียภาษีหรือไม่?
มีคำถามจากเพื่อน ๆ ที่มีรายได้ทางอินเตอร์เน็ตว่า จะต้องยื่นภาษีอย่างไรบ้าง หรือจริง ๆ แล้วไม่ต้องยื่นเสียภาษีอะไรเลย?

ดังนั้นจึงขอไล่เนื้อหาไปตามแต่ละหัวข้อนะครับ
ภาษีคืออะไร
ภาษีอากร คือ สิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากราษฎร เพื่อใช้เป็นประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่ได้มีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษีอากร

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคือใคร
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสำหรับกรณีนี้ คือ บุคคลธรรมดาที่มีรายได้ (เงินได้พึงประเมิน) ที่เข้าข่ายตามกฎหมายประมวลรัษฎากร โดยมีหน้าที่เสียจากการประเมินด้วยตนเอง ซึ่งแปลว่า เรา ๆ ท่าน ๆ ที่มีรายได้ตรงส่วนนี้ ต้องนำมาพิจารณาเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเป็นผู้ยื่นแบบด้วยตัวเอง

รายได้ทางอินเตอร์เน็ต ถือเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่?
รายได้ดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) ซึ่งเป็นเงินได้ประเภทอื่น ๆ ที่ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 40(1) – 40(7)

การคำนวณรายได้และค่าใช้จ่ายของรายได้จากอินเตอร์เน็ต
เนื่องจากประเทศไทย มีหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีที่น่าสนใจอยู่สองเรื่อง คือ

  1. แหล่งเงินได้
  2. ถิ่นที่อยู่

ซึ่งในส่วนนี้ ขอแนะนำเรื่องการวางแผนภาษีว่า ถ้ามีเงินได้แล้ว สามารถนำเข้ามาในปีถัดไปได้หรือหาฝากไว้ที่ต่างประเทศได้ (มีเงินหมุนเวียน) ก็สามารถเบือกที่จะทำได้ ไม่ถือเป็นความผิดครับ เช่น นาย A มีเงินได้จาก Adsense และ Amazon ในปี 2017 แต่ได้รับเช็ค/โอนเงินเข้าบัญชีที่ประเทศไทย ปี 2018 ตรงนี้แปลว่าไม่ต้องเสียภาษีแน่นอน และไม่ผิดกฎหมายด้วย

ผ่านเรื่องหลักเกณฑ์ของรายได้ไปแล้ว มาดูเรื่องค่าใช้จ่ายกันบ้าง

โดยปกติแล้ว เงินได้ประเภท 40(8) นั้น ประมวลรัษฎากรมีทางเลือกให้สองทาง คือ หักตามความจำเป็นและสมควร(จ่ายจริง) และหักเป็นการเหมา(ร้อยละของเงินได้)

แต่เมื่อดูหลักเกณฑ์การหักเหมาตาม ตารางแสดงอัตราการหักค่าใช้จ่าย ของกรมสรรพากรแล้ว จะเห็นว่า ไม่มีให้อัตราเหมาให้เลือกหักสำหรับรายได้จากอินเตอร์เน็ตเลย แต่ข้อที่อาจจะใกล้เคียงที่สุด ก็คือ ข้อ (25) การขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่น ซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต ซึ่งหักได้ร้อยละ 80 ของเงินได้

หมายเหตุ : ส่วนนี้คือการตีความกฎหมายส่วนตัว แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยที่สุด ก็คือ เลือกหักตามจริง เนื่องจาก ข้อ (44) ระบุไว้ว่า เงินได้ที่มิได้ระบุไว้ตั้งแต่ข้อ (1) – ข้อ (43) ให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรเท่านั้น ซึ่งแปลว่าเราไม่มีทางเลือกที่จะหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้เลย

แต่เมื่อจะหักค่าใช้จ่ายตามจริงแล้ว จะมีคำถามตามมาว่า แล้วจะเอาหลักฐานอะไรไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ด้วยความไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ ขอแนะนำให้ผู้มีเงินได้เก็บรายละเอียดทุกอย่างไม่ว่าเป็น หลักฐานการซื้อ, ใบเสร็จรับเงิน, Invoice, Slip บัตรเครดิต หรือแม้กระทั่งการจ่ายผ่าน Paypal ที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้จ่าย และ Print ทุกอย่างเก็บไว้เป็นหลักฐานว่าได้จ่ายจริง และหากมีการจ้างงานเด็กในสำนักงาน ก็ควรทำรายละเอียดการจ่ายเงินไว้ด้วย หรือให้มีการเซ็นรับเงิน เพราะยังถือเป็นหลักฐานที่เราสามารถอ้างอิงได้

ขอแนะนำว่า ทางที่ดีที่สุด คือ ทำบัญชีรายรับรายจ่ายด้วย จะทำให้ทราบว่าตัวเองมีกำไรจริง ๆ เท่าไหร่ อีกทั้งยังจะสะดวกในการคำนวณภาษีมากขั้น (ซึ่งผู้มีรายได้ส่วนใหญ่มักจะละเลยเรื่องนี้กัน)

ค่าลดหย่อนอื่น ๆ
หลักจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว เรายังสามารถหักลดหย่อนอื่น ๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ภรรยา บุตร ประกันชีวิต กองทุนต่าง ๆ เงินบริจาค ซึ่งตรงนี้สามารถดูได้จากหลักเกณฑ์การคำนวณตามแบบ ภงด.90

อัตราภาษีเงินได้
อัตราภาษีของประเทศไทย คำนวณโดยอัตราก้าวหน้าครับ แปลว่า ผู้มีรายได้ยิ่งสูงยิ่งเสียภาษีมาก

บทลงโทษที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 22 ผู้เสียภาษีต้องรับผิดชอบค่าปรับหนึ่งเท่าของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ
มาตรา 27 มีโทษปรับอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
มาตรา 37 พยายามจงใจให้การเท็จ จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท
มาตรา 37 ทวิ ถ้าไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน

นอกจากนั้นแล้ว ประมวลรัษฎากรได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานสรรพากรในการประเมินภาษี ไม่ว่าจะเป็น
มาตรา 19 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น กรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริง หรือไม่บริบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายนั้นมาไต่สวน และออกหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการ หรือพยานนั้น นำบัญชีเอกสาร หรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันส่งหมาย
มาตรา 38 ภาษีเงินได้นี้อยู่ในประเภทภาษีอากรประเมิน และให้เจ้าพนักงานประเมินเป็นผู้ประเมินเกี่ยวกับภาษีในหมวดนี้

ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากรโดยตรง เรื่อง ความรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา

 

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : บล๊อกภาษีข้างถนน

Facebook Comments