บริหารหนี้ผ่านหลักการง่ายๆ 9 ข้อ
เรื่องราวของคณะครูที่ประกาศพักการชำระหนี้ให้แก่ธนาคารออมสินเมื่อเร็วๆ นี้ สร้างความตระหนกแก่สังคมไม่น้อย หลายคนวิพากษ์ไปในทางที่ว่าไม่เหมาะสม จะเหมาะควรหรือไม่อย่างไรเป็นเรื่องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับสังคมที่จะมองหรือให้คุณค่ากันต่อไป แต่เรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ “ครูส่วนหนึ่ง” (ไม่ใช่ทุกคน) ไม่มีความรู้เรื่องการบริหารจัดการหนี้เพราะถ้าครูมีความรู้ หรือบริหารจัดการกระเป๋าซ้ายขวาของตัวเองได้ ก็คงไม่ถลำเถลือกหรือเตลิดเปิดเปิงมาจนถึงขั้นนี้!
สร้างหนี้ได้ ก็สางหนี้ได้
1.ในต่างประเทศ ความรู้เรื่องการเงินส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้กันตั้งแต่ยังเล็กโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น จะขวนขวายหาเงินค่าขนม รับจ๊อบหรือหารายได้พิเศษ โดยเงินที่ได้ถือเป็นรายได้ที่เด็กๆ ต้องบริหารจัดการ นัยหนึ่งคือการเรียนรู้ไปในตัว
2.วัยรุ่นในต่างประเทศ ส่วนใหญ่โตขึ้นมาแล้วไม่มีปัญหา เพราะได้เจอกับปัญหามาตั้งแต่ทำงานหาเงินได้สมัยวัยรุ่น รู้จักวางแผนทางการเงิน รู้จักตั้งเป้าหมายทางการเงิน รู้จักการลงทุนในรูปแบบต่างๆ รู้จักเขียนแผนเงินกู้ และเมื่อกู้แล้วก็จัดระเบียบทางการเงินจ่ายหนี้ตามแผนที่วางไว้
3.เรื่องการจัดการเงินหรือกระเป๋าของตัวเองนั้น เริ่มต้นจากการมีทัศนคติที่ดี มีมุมมองเป็นบวก สร้างตัวสร้างฐานะ รวมทั้งสร้างหนี้อย่างมีระบบ (มีความรู้)
4.การวางแผนทางการเงินเป็นเครื่องมือนำชีวิตสู่ความมั่นคงทางการเงิน ควรเริ่มจากการปลูกฝังนิสัยการออมและการใช้เงินอย่างสมเหตุสมผลตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อบ่มเพาะวินัยทางการเงิน เมื่อเข้าสู่วัยทำงานก็จำเป็นต้องรู้วิธีการวางแผนการจัดสรรรายได้ให้เพียงพอกับการออมเงินตามเป้าหมายและรายจ่ายอย่างเหมาะสม
5.จำไว้ว่าการวางแผนทางการเงินหรือการมีวินัยทางการเงินต้องอยู่กับเราจนชั่วชีวิต เมื่อมีครอบครัวก็ต้องดูแลคนในครอบครัว มีความรับผิดชอบและภาระทางการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้การวางแผนทางการเงินมีความสำคัญมากขึ้น กระทั่งเมื่อเกษียณอายุ หากไม่มีการวางแผนที่ดีก็อาจเกิดปัญหาได้
6.การสร้างหนี้ไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป เพราะบางครั้งเราอาจต้องซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือการลงทุนเพื่ออนาคต สิ่งที่สำคัญคือหลักการสร้างหนี้ ควรเลือกก่อหนี้ที่ดี ได้แก่ หนี้ที่สร้างอนาคตหรือความมั่นคงระยะยาว หลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือไม่ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน เช่น หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค สินค้าฟุ่มเฟือย เป็นต้น
7.เมื่อมีหนี้ก็พึงเป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการหนี้ นั่นคือ ต้องวางแผนและบริหารจัดการรายได้ เพื่อชำระคืนหนี้ให้ตรงตามนัด ทำบัญชีรายรับรายจ่าย ไม่สร้างภาระหนี้จนเกินตัว โดยมาตรฐานการชำระหนี้ พึงให้มีสัดส่วนการผ่อนชำระทั้งหมดในแต่ละเดือน ไม่เกิน 1 ใน 3 ของรายได้รวม
8.จะก่อหนี้ทั้งที ต้องทำการบ้าน ควรหาข้อมูลจากสถาบันการเงินหลายๆ แห่ง เพื่อใช้เปรียบเทียบสินเชื่อที่เหมาะกับความต้องการและได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด เช่น เงื่อนไขการกู้ยืม ระยะเวลาผ่อนชำระ สิทธิพิเศษ อัตราดอกเบี้ย และวิธีคิดดอกเบี้ย รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง และต้องไม่ลืมว่า ห้ามก่อหนี้นอกระบบเด็ดขาด
9.ก่อนทำหรือลงนามในนิติกรรมสัญญา ต้องอ่านสัญญากู้รวมทั้งเอกสารประกอบให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วน เรื่องนี้สำคัญ ไม่ใช่ว่าเซ็นไปแล้ว พอรู้ตัวอีกทีก็จะขอพักชำระหนี้ อย่างนี้ก็ยากที่จะขอความเข้าใจหรือเห็นใจ ในเมื่อก่อนเซ็นเอกสาร คู่สัญญาย่อมไม่มีข้ออ้างที่จะไม่อ่านหรือละเลยเงื่อนไขที่ต้องผูกพัน
ส่งท้ายด้วยความเห็นใจ เข้าใจและเห็นใจจริงๆ กับผู้มีอาชีพเป็นเรือรับจ้าง ที่ยุคนี้เอาตัวรอดจากหนี้ได้ยาก บางคนกู้ยืมจากแหล่งหนึ่งเพื่อโปะ(หนี้)อีกแหล่งหนึ่ง กลายเป็นงูกินหาง ที่ถูกกินกลางตลอดตัว เป็นอย่างนี้เพราะไม่มีความรู้เรื่องหนี้สิน ไร้ภูมิคุ้มกันและไร้ความสามารถจัดการหนี้ของตัวเอง
ถึงเป็นคุณครูก็เป็นนักเรียนได้ เพราะจริงๆ แล้วคนทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะเรื่องหนี้ ที่จะสร้างคุณภาพชีวิตและอิสรภาพทางการเงินให้กับคุณครู(และ)ทุกคน
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : 40Plus