ใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์

ใบกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นเอกสารสำคัญเป็นหลักฐานเมื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนไปใช้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์

 

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเมื่อมีการประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการโดยส่วนมากแล้วมักจะเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี ใบรับเงิน แล้วส่งมอบให้กับลูกค้า พร้อมทั้งต้องจัดทำรายงานภาษีมูลค่าเพิ่มให้แล้วเสร็จ และต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยทั่วไปแล้วผู้ประกอบการจะออกใบกำกับภาษี ใบรับเงินในรูปแบบของกระดาษให้กับลูกค้าเป็นหลักฐานเอกสารในการซื้อขายสินค้าหรือรับชำระเงิน

 

ใบกำกับภาษี คือ เอกสารหลักฐานสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องจัดทำและออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือรับบริการในแต่ละครั้ง

 

ใบรับ คือหนังสือที่ทำเป็นหลักฐานว่าได้รับเงินหรือสิ่งของไว้แล้ว

ส่วนสำคัญของใบกำกับภาษีและใบรับเงิน

ส่วนสำคัญของใบกำกับภาษีและใบรับเงินมีดังนี้

“ใบกำกับภาษี” หมายความรวมถึง ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ในการขายทอดตลาด หรือขายโดยวิธีอื่นตามมาตรา 83/5 และใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร ของกรมศุลกากร หรือของกรมสรรพาสามิต ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มมาตรา 86/4 ภายใต้บังคับมาตรา 86/5 และมาตรา 86/6 ใบกำกับภาษีต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีและในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

(3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

(4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี

(5) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

(6) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

(7) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

(8) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

“ใบรับ” หมายถึง (ก) บันทึกหรือหนังสือใด ๆ ที่เป็นหลักฐานแสดงว่าได้รับ ได้รับฝากหรือได้รับชำระเงินหรือตั๋วเงิน และ (ข) บันทึกหรือหนังสือใด ๆ ที่เป็นหลักฐานแสดงว่าหนี้หรือสิทธิเรียกร้องได้ชำระหรือปลดให้แล้วใบรับและต้นขั้ว หรือสำเนาใบรับ อย่างน้อยต้องมีตัวเลขไทยหรืออารบิค และอักษรไทยให้ปรากฏข้อความต่อไปนี้

(1) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ

(2) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ

(3) เลขลำดับของเล่มและของใบรับ

(4) วันเดือนปีที่ออกใบรับ

(5) จำนวนเงินที่รับ

(6) ชนิด ชื่อ จำนวนและราคาสินค้า ในกรณีการขายหรือให้เช่าซื้อสินค้า เฉพาะชนิดที่มีราคาตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทขึ้นไป

 

ส่วนหนึ่งจากบทความ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ โดยอาจารย์สมเดช โรจน์คุรีเสถียร ติดตามบทความฉบับสมบูรณ์ได้จากวารสาร CPD & Account ปีที่ 14 ฉบับที่ 164 เดือนสิงหาคม 2560
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : ธรรมนิติ

Facebook Comments