ต้องขออ้างอิงถึงคำว่า “ธุรกรรมพิเศษ” หมายถึง ธุรกรรมที่มีการ ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือ ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้งขึ้นไป และมียอดรวมตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป
ดังนั้นเรามาดูกันครับว่า ถ้าหากกฎหมายนี้บังคับใช้จริง เราควรจะทำยังไง?
หลังจากที่เราบ่น ด่า และต่อว่ากันอย่างสาแก่ใจแล้ว ทีนี้มันต้องดูกันครับว่า ถ้ากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ขึ้นมาจริงๆ เราควรจะทำยังไงดี ซึ่งมีแนวทางที่อยากจะแนะนำไว้สัก 2 ข้อดังนี้ครับ
- บัญชีรายรับรายจ่าย อันนี้บอกเลยว่าต้องทำ โดยให้รู้ว่า “ทุกรายการเงินเข้าในบัญชีธนาคาร” นั้น “เป็นรายการเกี่ยวกับอะไร” ซึ่งการจดบันทึกรายการบัญชีรายรับรายจ่ายจะช่วยเราได้ง่ายที่สุดครับ
- แยกบัญชีธนาคารตามประเภทของการใช้งาน จากผลของที่ธนาคารมีค่าธรรมเนียมฟรีประกอบกับการที่ระบบพร้อมเพย์ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำมาก ทำให้อุปสรรคในการโอนเงินนั้นหมดไป การเปิดบัญชีแต่ละบัญชีเพื่อใช้งานนั้น ขอให้แยกตามประเภทของการใช้จ่าย เช่น ใช้จ่ายส่วนตัว รับรายได้จากการทำงานหรือธุรกิจ บัญชีลงทุนต่างๆหรือรับรายได้อื่น บัญชีรับเงินปันผลดอกเบี้ย ไม่ใช่เพื่อใช้ในการหลบเลี่ยงนะครับ แต่ทำเพื่อใช้ในการจัดการบริหารการเงินให้สามารถลงบันทึกบัญชีรายรับรายจ่ายได้สะดวกขึ้นครับ
โดยหลักการในข้อ 1 และ 2 นั้นเป็นหลักการพื้นฐานทางด้านการจัดการการเงินและการจัดการภาษีส่วนบุคคลอยู่แล้วครับ เพียงแต่ว่าสิ่งที่ดูเหมือนปัญหาอาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่เคยทำมาก่อน แต่ถ้าหากใครได้ทำแล้วจะรู้ว่าเราสามารถวางแผนการเงิน จัดการเรื่องภาษีได้อย่างมีระบบและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นประโยชน์กับตัวเราเองและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากถูกตรวจสอบได้ไปพร้อมๆกันเลยล่ะครับ
อย่ามโนไปไกลเรื่องสังคมไร้เงินสด เงินในระบบ จนเข้าใจผิดว่า เรื่องทั้งหมดนี้เป็นเพราะพร้อมเพย์
อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะเขียนชี้แจงไว้สำหรับการรับข่าวสารในช่วงนี้คือ เรื่องทั้งหมดที่เขียนนี้ไม่เกี่ยวกับการสมัครพร้อมเพย์ในการใช้งานนะครับ เราต้องแยกก่อนว่าพร้อมเพย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใช้ในการโอนเงินและทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งผู้ใช้มีสิทธิเลือกที่จะสมัครหรือยกเลิกเมื่อไรก็ได้ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้คือการระบุให้สถาบันการเงินต่างๆ มีหน้าที่ต้องนำส่งข้อมูลการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด (ธุรกรรมพิเศษ) ให้กับกรมสรรพากรตรวจสอบ ซึ่งถ้าไม่ทำก็มีความผิดกันไป ดังนั้นธนาคารก็ต้องทำตามหน้าที่ของเขาไปครับ
นอกจากนั้นในเรื่องของกฎหมาย ก็ต้องบอกอีกว่า หลักการกฎหมายภาษีบ้านเรานั้น เจ้าพนักงานสามารถตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีได้อยู่โดยอำนาจตามกฎหมายดั้งเดิม นั่นคือ ถ้าหากสงสัยสามารถขอตรวจสอบได้ทันที (อ่านภาษากฎหมายได้ที่ มาตรา 19 แห่งประมวลรัษฏากรครับ) ซึ่งไม่เกี่ยวว่าการเปิดพร้อมเพย์จะทำให้ตรวจสอบได้ง่ายขี้นนะครับ มันคนละเรื่องกัน ไอ้ที่ตรวจสอบได้ง่ายขึ้นจริงๆนั้น อาจจะมาจากกฎหมายฉบับนี้มากกว่าด้วยครับที่ให้อำนาจในการตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ซึ่งถ้าผ่านขึ้นมาจริงๆ แล้วเราไม่มีหลักฐานแสดงให้เชื่อว่าเราทำถูกต้องมันก็อาจจะเป็นปัญหาตามมาได้ครับ
ท้ายที่สุดนี้ ผมเชื่อว่า สิ่งที่เราทำได้จริงๆ คือ การปรับตัวกับสิ่งที่จะออกมา โดยการเตรียมข้อมูล หลักฐาน และพิสูจน์ว่าเรานั้นมีรายได้ถูกต้องตามที่ยื่นภาษีจริง (หากถูกตรวจสอบขึ้นมา) เพราะตรงนี้ก็ถือว่าเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของประชาชนครับ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : บล๊อกภาษีข้างถนน