ภาษีโรงเรือนและที่ดินคืออะไร
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน คือภาษีที่เรียกเก็บจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ กับที่ดินที่ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่องไปกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างนั้น ถ้ากล่าวถึงโรงเรือนอาจยากที่จะเข้าใจความหมายว่าคืออะไร ซึ่งโรงเรือนในที่นี้หมายถึง อาคาร ตึกแถว บ้าน ร้านค้า สำนักงาน โรงแรม โรงภาพยนตร์ โรงพยาบาล ธนาคาร โรงเรียน อาคารชุด หอพัก คลังสินค้า เป็นต้น ส่วนสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ นั้นหมายถึง สิ่งปลูกสร้างที่ก่อสร้างบนที่ดินอย่างถาวร เช่น สะพาน ท่าเรือ ถังเก็บน้ำมัน อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ รวมไปถึงที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรืองและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เป็นการใช้ประโยชน์ไปด้วยกันบนที่ดินที่ต่อเนื่องกัน
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนคือใคร
ในกรณีทั่วไปแล้วเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี คือผู้มีหน้าที่เสียภาษี ยกเว้นกรณีที่ที่ดินและโรงเรือน อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นคนละเจ้าของกัน กำหนดให้เข้าของกรรมสิทธิ์อาคาร โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี
ทรัพย์สินประเภทใดต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน
โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง และที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างนั้น โดยมีเงื่อนไขว่าในปีภาษีที่ผ่านมาได้มีการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นไปในกิจกรรมดังนี้
1. ให้เช่า
2. ใช้เป็นที่ค้าขาย
3. ใช้เป็นที่ไว้สินค้า คลังสินค้า
4. ใช้เป็นที่ประกอบอุตสาหกรรม
5. ให้ญาติ บิดา มารดา บุตร หรือผู้อื่นอยู่อาศัย
6. ใช้ประกอบกิจการอื่นๆ เพื่อหารายได้ และไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย
ทรัพย์สินประเภทใดไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน
1. พระราชวังอันเป็นส่วนของแผ่นดิน
2. ทรัพย์สินของรัฐที่ใช้ในกิจการของรัฐบาล หรือสาธารณะ และทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการของการรถไฟโดยตรง
3. โรงพยาบาลสาธารณะและโรงเรียนสาธารณะ ประกอบกิจการไม่ใช่เพื่อผลกำไรส่วนบุคคล
4. ศาสนสมบัติใช้เฉพาะในศาสนกิจอย่างเดียวหรือเป็นที่อยู่ของสงฆ์
5. โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ปิดไว้ตลอดปี และเจ้าของไม่ได้อยู่เอง หรือให้ผู้อื่นอยู่ยกเว้นคนเฝ้า
6. โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างของการเคหะแห่งชาติที่ผู้เช่าซื้ออยู่อาศัยเอง ไม่ได้ใช้เป็นที่เก็บสินค้า หรือประกอบอุตสาหกรรม หรือกิจการเพื่อหารายได้
7. โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ที่เจ้าของอยู่เองหรือให้ผู้แทนอยู่เฝ้ารักษา ซึ่งไม่ได้ใช้เป็นที่เก็บสินค้า หรือประกอบอุตสาหกรรม
จะเห็นได้ว่าบ้านพักอาศัยที่เจ้าของอยู่อาศัยเองนั้น โดยไม่ได้ใช้เป็นที่ประกอบกิจการ อุตสาหกรรม หรือคลังสินค้านั้นได้รับการยกเว้นจากการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน
ยื่นแบบแสดงภาษีและชำระภาษีได้ที่ใด
ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ให้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ โดยยื่นได้ที่ ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขต ณ พื้นที่ที่ทรัพย์สินตั้งอยู่
หากผู้มีหน้าที่เสียภาษีเป็นเจ้าของทรัพย์สินหลายแห่งในหลายเขตพื้นที่ สามารถยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินได้ที่กองรายได้ สำนักการคลัง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
โดยหลังจากยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแล้ว ผู้มีหน้าที่เสีบยภาษีจะได้รับใบแจ้งการประเมิน (ภ.ร.ด.8) ให้นำเอกสารดังกล่าวไปชำระภาษีภายใน 30 วันได้ที่ ฝ่ายการคลัง สำนักงานเขตทุกเขต หรือกองการเงิน สำนักการคลัง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร หรือชำระภาษีผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาก็ได้เช่นกัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.ddproperty.com