เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลที่หมดอายุไปเมื่อ 31 ธันวาคม 2560 โดยต่ออายุไปอีก 1 ปี ให้บุคคลธรรมดาที่อยากจะเปลี่ยนเป็นนิติบุคคลได้รับสิทธิ์จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ตรงนี้เลยทำให้หลายคนเกิดคำถามตามมาว่า “แล้วเราควรจะจดบริษัทดีไหม”
นโยบายหลัก ๆ จากกฎหมายฉบับเก่าที่เพิ่งหมดอายุไป (พระราชกฤษฎีกา 630) สิทธิประโยชน์ของบุคคลธรรมดาที่จะได้รับเมื่อเปลี่ยนมาเป็นนิติบุคคลนั้นมีอะไรบ้าง?
- ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์แก่บุคคลธรรมดาในการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สิน
- สำหรับบริษัทที่จัดตั้งใหม่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถนำรายจ่ายจากการจัดตั้งบริษัท รวมทั้งรายจ่ายค่าทำบัญชีและค่าสอบบัญชีมาหักรายจ่ายได้ 2 เท่า เป็นเวลา 5 รอบบัญชี
จากกฎหมายฉบับนี้จะเห็นว่า สำหรับคนที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจอยู่และไม่อยากเสียภาษีในฐานะบุคคลธรรมดาที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากถูกจำกัดสิทธิการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาลงจาก 80% เหลือเพียง 60% ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกัน เพราะว่า การลดอัตราที่ว่านี้ก็มาพร้อมกันกับกฎหมายที่สนับสนุนให้บุคคลธรรมดาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลนั่นเอง
รัฐได้อะไรจากการที่เราจดทะเบียนนิติบุคคล
การที่บุคคลธรรมดาเปลี่ยนรูปแบบจากเป็นบุคคลธรรมดามาจดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนั้น รัฐได้ตัวเลขชัดเจนของธุรกิจที่เข้าสู่ระบบมากขึ้น เมื่อบวกกับแนวทางหรือกฎต่าง ๆ ที่เข้มงวดมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้คนที่อยู่ในระบบนั้นหลบเลี่ยงภาษีได้ ย่อมมีผลให้ในระยะยาวจำนวนภาษีที่เก็บได้มากขึ้นตามไปด้วยครับ
ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า กฎหมายบ้านเรานั้นช่วยให้บุคคลธรรมดามีโอกาสหลบเลี่ยงการเสียภาษีได้มากกว่านิติบุคคล ทั้งวิธีการคำนวณภาษี แนวทางการหักค่าใช้จ่าย ซ้ำร้ายไปจนถึงแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นมานมนาน อย่างการเสียภาษีแบบเหมา ๆ ตามที่ตกลงกันไว้ โดยที่ไม่ได้คิดถึงความถูกต้องและที่มาของรายได้เลยแม้แต่น้อย
ดังนั้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายคนคงเริ่มเห็นวิธีการตรวจสอบที่เข้มข้นมากขึ้นของกรมสรรพากร (ใครที่ยื่นขอคืนภาษีปี 2560 น่าจะพอเห็นภาพ) ระบบที่มีการวางโครงสร้างไว้ชัดเจนอย่าง National E-Payment ไปจนถึงร่างกฎหมายมากมายที่ให้สิทธิในการตรวจสอบข้อมูลรายได้ว่าถูกต้องจริงหรือเปล่า อย่างการขอให้ธนาคารส่งข้อมูลบัญชีเงินฝากให้กับสรรพากร
แน่นอนว่าต่อจากนี้ไปในอนาคต แนวทางการหลบหลีกภาษีจะยากขึ้นสำหรับบุคคลธรรมดา และการขยายมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ก็เหมือนเป็นการต่อเวลาให้บุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจทั้งหลายมีโอกาสที่จะเข้ามาสู่ระบบการยื่นภาษีที่ถูกต้องมากขึ้น ผ่านการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลครับ
ควรใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการนี้ไหม? แล้วเราควรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ ?
ประเด็นแรก คือ ถ้าธุรกิจของเรารายได้เยอะจริง และจะเพิ่มขึ้นแน่ ๆ ควรเปลี่ยนเป็นนิติบุคคลครับ ซึ่งคำว่าเยอะที่ว่านี้ ให้มองเปรียบเทียบเรื่องต่อไปนี้ประกอบกันครับ คือ
- กำไรที่แท้จริงของธุรกิจมีเท่าไร และเสียภาษีในนามบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนเท่าไรกันแน่ และทุกวันนี้คุณเสียภาษีตามความเป็นจริงหรือไม่?
- ต้นทุนในการเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง เช่น ค่าจ้างพนักงาน ต้นทุนต่าง ๆที่เพิ่มขึ้นหลังจากจดทะเบียนนิติบุคคลมากแค่ไหน และมันคุ้มค่ากับการประหยัดภาษีในระยะยาวหรือเปล่า
หรือถ้าใครสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ลองอ่านบทความ อยากประหยัดภาษี… ควรจดบริษัทดีไหม? เพื่อดูข้อมูลตัวเลขในการตัดสินใจอีกทีหนึ่งครับ แต่จริง ๆ โดยความคิดเห็นส่วนตัว พรี่หนอมมองว่า ถ้าหากใครที่มองว่าธุรกิจของตัวเองกำลังเติบโตในอนาคตแน่ ๆ และสามารถตอบทั้งข้อ 1 และ 2 ได้โดยที่ไม่ต้องถามบัญชี หรือหาคนมาช่วยคิดและดูแลให้แล้วล่ะก็ ถือว่ามีคุณสมบัติพอที่จะจดนิติบุคคลได้เลยครับ เพราะการทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลนั้น จะช่วยให้เราบริหารจัดการธุรกิจได้ชัดเจนมากขึ้น ประกอบกับนโยบายการลดภาษีหรือกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ นั้นมักจะสนับสนุนธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลมากกว่าบุคคลธรรมดา ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจที่กำลังจะเติบโตในอนาคตครับ
ซึ่งถ้ามองในแง่อื่นที่นอกเหนือจากการเงินและภาษี ก็ต้องบอกว่าการจดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลนั้นมี ข้อดีอีกหลายข้อครับ ทั้งเรื่องการจำกัดความรับผิดชอบ เรื่องของการขอกู้ยืม ความน่าเชื่อถือและความสะดวกในการทำธุรกิจต่าง ๆ ที่จะได้รับในอนาคตหลังจากเปลี่ยนสภาพเป็นนิติบุคคลนั่นแหละครับ
สรุปตรงนี้แบบสั้นๆว่า… มีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณา แต่ถ้าหากคุณมองว่าธุรกิจของคุณจะเติบโตในไม่ช้านี้ และมีโอกาสที่จะไปไกล การจดทะเบียนนิติบุคคลจะช่วยให้คุณประหยัดได้ในระยะยาวอย่างแน่นอนครับ
นอกจากด้านภาษีแล้ว เหมือนจะมีการส่งเสริมด้านอื่นด้วย
ทีนี้ถ้าเราลองเชื่อมโยงต่อไปถึงทางฝั่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าบ้าง ก็จะเห็นว่ามันประจวบเหมาะกับการลดค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนนิติบุคคลเช่นกันครับ ซึ่งทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็ได้มีประกาศออกมาเรื่องนี้ โดยลดค่าธรรมเนียมต่างๆลงเป็นจำนวนมาก ตามตารางด้านล่างนี้ ซึ่งเหมือนเป็นการกระตุ้นอีกทางหนึ่งว่าการจดทะเบียนนิติบุคคลนั้นไม่ใช่เรื่องยากและเปลืองเงินมากเหมือนเช่นเมื่อก่อนอีกต่อไป (แถมยังให้ทางเลือกส่วนลดออนไลน์ถึง 30% อีกต่างหาก นี่มัน Thailand 4.0 แน่ๆ!!)
ตารางรายละเอียดการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียม
ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน | ค่าธรรมเนียม (บาท) | |||
อัตราเดิม | อัตราใหม่ | |||
Walk in แบบคงที่
(Flat Rate) |
e-Regis
(ลด 30%) |
เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ (ลด 50%) |
||
1. การจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน
2. การจดทะเบียนควบห้างหุ้นส่วน |
1,000 – 5,000 | 1,000 | 700 | 500 |
2,000 | 1,000 | 700 | 500 | |
3. การจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ | 500 – 25,000 | 500 | 350 | 250 |
4. การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัด
5. การจดทะเบียนการแปรสภาพห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัด 6. การจดทะเบียนควบบริษัทจำกัด |
5,000 – 250,000 | 5,000 | 3,500 | 2,500 |
5,000 – 250,000 | 5,000 | 3,500 | 2,500 | |
5,000 | 5,000 | 3,500 | 2,500 |
สิ่งที่อยากจะให้ทบทวนในทุกครั้งที่มีการออกนโยบายหรือการต่ออายุนโยบายแบบนี้ คือคำถามที่ว่า เราจะได้รับประโยชน์อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นบ้าง และถ้าหากเราไม่ทำตามจริง ๆ มันจะเกิดปัญหาอะไรตามมาหรือเปล่า
ถ้าหากว่าคำตอบคือ การเลือกจดเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมันเป็นประโยชน์กับเรา เช่น เราเป็นเจ้าของธุรกิจที่เสียภาษีในปี 2560 เพิ่มขึ้นมากจนปวดหัวใจ และมองว่าปีนี้รายได้เราจะมากขึ้น รวมถึงเราอยากจะมีแผนอยากได้สินเชื่อธนาคารเพื่อขยายกิจการ การจดนิติบุคคลก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่เราได้ประโยชน์ล้วน ๆ พร้อมกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ตามมาในแง่ของการประหยัด และการหักค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นต่าง ๆ
แต่ถ้าหากเรามองว่าธุรกิจเรานั้นเรื่อย ๆ ไม่โตแน่ ๆ ตายหรือเปล่าก็ไม่รู้ เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกวันนี้ก็เสียได้ ไม่ได้ลำบากใจ ปี 2560 เสียน้อยกว่าเดิมอีกต่างหากเพราะรายได้ลด แบบนี้เราก็อาจจะไม่ต้องสนใจอะไรกับนโยบายนี้ก็ได้ แต่ให้มองสักหน่อยว่า ถ้าไม่จดแล้ว ภาษีที่เราเสียอยู่ในทุก ๆ วันนี้มันถูกต้องแล้วนะ ถ้าถูกตรวจสอบขึ้นมาก็ไม่มีปัญหาอะไร แบบนี้เราก็ไม่เลือกจดได้ เพราะกฎหมายไม่ได้บอกว่าถ้าไม่จดสรรพากรจะมาหาถึงบ้าน หรือตามล้างบางเรื่องภาษีสักหน่อย (ฮ่า ๆ)
จะเห็นว่าแนวคิดที่พรี่หนอมว่ามาทั้งหมดนั้น มีเรื่องภาษีเป็นองค์ประกอบน้อยมากครับในการวางแผนว่าจะจดบริษัทดีไหม เพราะสิ่งที่จำเป็นจริงๆในการจัดการเรื่องนี้คือ วิสัยทัศน์ และ ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อเปรียบเทียบประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่า ถ้าเรามีสองอย่างนีมากพอ เชื่อเลยครับว่า คำตอบว่าควรเปลี่ยนเป็นนิติบุคคลดีไหมจะตามมาอย่างง่ายๆเลยล่ะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : บล๊อกภาษีข้างถนน