เงินได้ของคุณต้องเสียภาษีอย่างไร?
เงินได้ คือ อะไรก็ตามที่เราได้รับมาแล้วทำให้เรารวยขึ้น โดยเฉพาะเงินได้ที่ทำให้เรามีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากฎหมายจะเรียกชื่อเฉพาะว่า เงินได้พึงประเมิน
เงินได้พึงประเมิน คือ เงินได้ที่กฎหมายบังคับให้เราต้องเอามาเสียภาษี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเงินได้ที่เราได้รับจะเป็นเงินได้พึงประเมินแทบทั้งสิ้น เว้นแต่จะมีกฎหมายจะเขียนเอาไว้อย่างชัดเจนว่าเงินได้ก้อนนั้นเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี
อะไรเป็นเงินได้พึงประเมินได้บ้าง?
เงินได้พึงประเมินจะเป็นอะไรก็ได้ที่ทำให้เรารวยขึ้นไม่ว่าจะเป็น*1
- เงินสด
- ทรัพย์สินที่ตีราคาได้
- สิทธิประโยชน์ที่ตีราคาได้
- เงินค่าภาษีที่มีคนจ่ายแทนให้เรา
- เครดิตภาษีเงินปันผล
ประเภทของเงินได้พึงประเมิน
ประมวลรัษฎากร บอกว่าเงินได้พึงประเมินแบ่งได้เป็น 8 ประเภท ซึ่งเงินได้แต่ละประเภทจะมีวิธีหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหาได้ และการหักภาษี ณ ที่จ่ายแตกต่างกันไป
ทั้งนี้ เงินได้พึงประเมินทั้ง 8 ประเภท สรุปคร่าวๆ ได้แก่*2
- เงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1)
- ค่าจ้างทั่วไป (เงินได้ประเภทที่ 2)
- ค่าลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา (เงินได้ประเภทที่ 3)
- ดอกเบี้ย เงินปันผล และ Cryptocurrency (เงินได้ประเภทที่ 4)
- ค่าเช่า (เงินได้ประเภทที่ 5)
- ค่าวิชาชีพอิสระ (เงินได้ประเภทที่ 6)
- ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ (เงินได้ประเภทที่ 7)
- เงินได้อื่นๆ ที่ไม่เข้าพวก (เงินได้ประเภทที่ 8)
อ้างอิง
*1 : มาตรา 39 ประมวลรัษฎากร
*2 : มาตรา 40 ประมวลรัษฎากร
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.itax.in.th