เงินลงทุนธุรกิจ Startup

เงินลงทุนธุรกิจ Startup ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง สูงสุดปีละ ฿100,000 สำหรับคนที่ลงหุ้นหรือลงทุนในธุรกิจ Startup ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562*1
ค่าลดหย่อนเงินลงทุนธุรกิจ Startup เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

คนที่ลงหุ้นหรือลงทุนในธุรกิจ Startup สามารถนำเงินเข้าหุ้นหรือเงินลงทุนนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละไม่เกิน ฿100,000
การลงทุนในธุรกิจ Startup เพื่อลดหย่อนภาษีนี้จึงอาจทำในฐานะทีมงานผู้ร่วมการก่อตั้งธุรกิจ Startup เอง หรือในฐานะนักลงทุนอิสระ (Angel Investor) ที่ร่วมลงทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจ Startup ก็ได้

เงื่อนไขการรับสิทธิ

คุณเองก็มีสิทธิหักลดหย่อนเงินลงทุนธุรกิจ Startup ได้ถ้าทำตามเงื่อนไขทั้งหมดต่อไปนี้

จ่ายเงินเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของธุรกิจ Startup ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้ว

จ่ายเงินลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่น้อยกว่า 2 ปีต่อเนื่องกัน นับแต่วันที่ลงทุน เว้นแต่ทุพพลภาพหรือตาย

ธุรกิจ Startup ที่อยู่ในเกณฑ์ลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีได้ดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1) ต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลของไทย ที่จดทะเบียนจัดตั้งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562
2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวต้องผ่านการเป็นธุรกิจ Startup ที่ได้รับการรับรองจาก สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) แล้วว่าได้ประกอบกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย
3) ธุรกิจ Startup นั้นมีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมด และ
4) มีทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทในรอบระยะเวลาบัญชีที่คุณลงทุนในธุรกิจ Startup นั้น

อุตสาหกรรมเป้าหมายของ สวทช.

กิจการ Startup ที่อยู่ในเกณฑ์ลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีได้จะต้องอยู่ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของ สวทช. ดังนี้

อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร

อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน ผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด

อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ

อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า

อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ

อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมใหม่

อ้างอิง

*1 : มาตรา 47(1)(ซ) ประมวลรัษฎากร,กฎกระทรวง ฉบับที่ 337 (พ.ศ. 2561)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.itax.in.th

Facebook Comments